ค้านแจกเงินดิจิทัล ได้ไม่คุ้มเสีย เป็นเพราะอะไร [บทวิเคราะห์]

รัฐบาลแจกเงินดิจิทัล

รายงานจากไทยรัฐ  นักวิชาการค้านแจกเงินดิจิทัล เหตุได้ไม่คุ้มเสียทำรัฐเสียโอกาสลงทุน

นักวิชาการ 99 คน นำโดย 2 อดีตผู้ว่า ธปท. “วิรไท-ธาริษา” ออกแถลงการณ์ค้านแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เรียกร้องรัฐบาลยกเลิก เหตุได้ไม่คุ้มเสีย แต่โพลมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้ชัด ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัด เพื่อเจียดเงินไปแก้ปัญหาน้ำ-ลงทุน

สื่อข่าวต่างๆ รายงานว่า นายวิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงชื่อร่วมกับอดีตคณบดี และคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวม 99 คน ในแถลงการณ์คัด ค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท”

เพราะได้ไม่คุ้มเสีย โดยระบุว่า 

1.เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว สำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% ในปีนี้ และ 3.5% ในปี 67 จึงไม่จำเป็นที่รัฐต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ จึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า อีกทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศยังอาจเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นอีก และอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2.งบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ โดยเงินมากถึง 560,000 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริหารจัดการน้ำ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นที่ไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญคือ การใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

3.การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะ ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal mutiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอน หรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของรัฐ การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่า นโยบายนี้จะกระตุ้น เศรษฐกิจ จึงเลื่อนลอย ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า สุดท้ายประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะเงินเฟ้อจากการเพิ่มปริมาณเงิน

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหา วิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ทั้งในเรื่องการเริ่มใช้เดือน ก.พ.67 การใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ไม่ได้ และระยะเวลาการใช้ 6 เดือน แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วย คือ การใช้เงินในรัศมี 4 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 76.4% จะใช้เงินในนโยบายดิจิทัลซื้อของใช้ในครัวเรือน อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ และ 15.6% ไม่ใช้ และ 8% ไม่แน่ใจ

นอกจากนี้ยังได้สำรวจผู้ประกอบการ พบว่า ร้านค้า 66.2% ไม่แน่ใจที่จะเข้าร่วมและไม่เข้าร่วม เพราะกังวลเรื่องภาษี ยังไม่รู้หลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ และคิดว่าจะได้รับเงินช้ากว่าการขายปกติ อีก 33.8% จะเข้าร่วม เพราะทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น ส่วนเมื่อถามนโยบายเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่หรือไม่ ส่วนใหญ่ 48.3% คิดว่ากระตุ้นได้มาก อีก 35.6% กระตุ้นได้ปานกลาง มีเพียง 0.7% ที่คิดว่ากระตุ้นได้น้อยมาก

ส่วนนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การนำงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มากระตุ้นเศรษฐกิจ คาดจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.14-3.3% และไม่เกิดการรั่วไหลของเม็ดเงิน แต่ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการแจกเงินด้วย และนำงบประมาณบางส่วนใช้แก้ปัญหาน้ำและลงทุนต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ส่วนแหล่งที่มาของงบที่จะใช้ เชื่อว่ารัฐบาลจะกู้เงินจากธนาคารของรัฐ เพื่อไม่ให้กระทบต่องบประมาณ ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 61% ต่อจีดีพี และยังไม่เกินเพดานที่ 70% ดังนั้น รัฐบาลต้องมีวินัยการเงิน การคลัง และต้องระวังความเสี่ยง.

อ้างอิงที่มา : ไทยรัฐ

ผลออกมาจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลจะรับฟัง หรือเดินหน้าต่อ กับการแจกเงินดิจิทัล 

ไอเดียเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

>> หาหนังสือดีๆสักเล่มอ่านเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

เว็ปไซต์ขายไอเดีย รวมบทความการเงินเข้าใจง่าย ที่จะทำให้คุณก้าวหน้าและใช้เงินได้ฉลาดขึ้น
412 Views จำนวนผู้เยี่ยมชม