10 เคล็ดลับทำดรอปชิป (Dropship) ขายยังไงให้ปัง 2566

10 เคล็ดลับทำ ดรอปชิป (Dropship)

ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาถือว่า ธุรกิจออนไลน์มาแรงมากๆ ค่ะ โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าออนไลน์ อย่างที่เราทราบกันดีว่า ตลาดออนไลน์มาแรงเพราะมีโควิดเป็นตัวกระตุ้น บังคับให้เราต้องจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ ใครจะไปคิดละค่ะว่าประเทศไทยจะมาถึงขั้นนี้แล้ว

จะจ้างวินมอเตอร์ไซต์ยังใช้แอพจองกันเลยค่ะ คงไม่แปลกอะไรถ้าเราจะใช้ออนไลน์กันมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่มองเห็นโอกาสการสร้างรายได้ แบบออนไลน์ค่ะ และในวันนี้ขายไอเดียจะพาไปรู้จักกับการตลาดออนไลน์เกี่ยวกับการทำ ดรอปชิป Drop Shipping ว่าคืออะไร ไปดูกันเลยค่ะ

อายุน้อยร้อยล้านช่างภาพถ่ายสินค้าaumza

ดรอปชิป(Drop shipping) คืออะไร

ดรอปชิป คือ การขายสินค้าที่คนขายไม่ต้องมีสินค้าเป็นของตัวเอง

วิธีการสร้างรายได้ก็คือ นำรูปภาพของสินค้า และคุณภาพลักษณะต่างๆ ของสินค้าที่ร้านค้าสามารถสั่งมาขาย โพสต์ลงในเว็บไซต์หรือเพจที่เราต้องการจะขาย เมื่อมีลูกค้ามาสั่งซื้อสินค้า ร้านค้าก็รับเงินค่าสินค้าแล้ว ค่อยไปสั่งกับร้านขายสินค้านั้นๆ พร้อมกับจ่ายเงินค่าสินค้านั้นให้กับร้านขายสินค้า และร้านขายสินค้าจะเป็นผู้ส่งสินค้าให้กับลูกค้าเอง

ขั้นตอนจะเป็นประมาณนี้ค่ะ = คนซื้อสินค้า > คนขาย(ร้านค้าออนไลน์) > เจ้าของสินค้า(โรงงานผลิต)

รายได้ของร้านค้าจะมาจาก ส่วนต่างของค่าสินค้า เช่น สมมุติว่า ร้านค้าA ประกาศขายสินค้าชิ้นละ 120 บาท ร้านค้ารับเงินลูกค้ามา 120 บาท แต่ร้านค้าจ่ายให้เจ้าของสินค้าจริงด้วยมูลค่าเงินที่น้อยกว่านั้น

เช่น ขายสินค้าราคา 120 บาท แต่อาจจ่ายให้เจ้าของสินค้าแค่ 100 บาทหรือน้อยกว่า 120 บาท แล้วแต่ว่าตกลงกันไว้เท่าไหร่ หรือเราอาจจะเห็นเจ้าของสินค้าขายอยู่ที่ 80 บาท เราก็มีหน้าที่คำนวณกำไรว่าเราต้องการเท่าไรก็ไปบวกเพิ่มเอาได้เลยค่ะ (มีตัวอย่างให้ดูตอนท้ายค่ะ)

Dropship ถือว่าเป็นรูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่น่าสนใจมากๆเลยทีเดียวค่ะ สำหรับใครที่เริ่มสนใจ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง การทำธุรกิจออนไลน์ ด้วยรูปแบบของ Dropship ถือว่าเป็นวิธีที่เอื้อให้ผู้ที่สนใจสามารถทดลองไอเดียธุรกิจได้หลากหลายรูปแบบ เช่น แหล่งร้านรับตัวแทนขาย สินค้าที่เป็นที่ต้องการในตลาด ช่องทางการขาย การตั้งราคา ฯลฯ เพราะไม่มีต้นทุนการกักตุนสินค้านั้นเอง 

ข้อดี

1. ใช้ต้นทุนน้อยมาก

ต้นทุนต่ำอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นและข้อได้เปรียบที่ใหญ่ที่สุดของการทำ Drop shipping ก็ว่าได้ เพราะ Drop shipping สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องลงทุนเงินจำนวนมากมาย พ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องซื้อสินค้าเลยสักชิ้น จนกว่าจะมีลูกค้าสั่งสินค้าและจ่ายเงินเข้ามา

2. เริ่มต้นง่าย

พอไม่ต้องสต็อกของ ก็เริ่มต้นได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องกังวลเรื่อง

  • จัดการหรือค่าเช่าโกดังเก็บของ
  • แพ็คของ ส่งของให้ลูกค้า
  • นับสต็อกของเพื่อทำบัญชี
  • จัดการสินค้าที่ถูกตีกลับ
  • สต็อกสินค้าให้มีอยู่ในคลังอย่างต่อเนื่อง

3. ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดน้อย

เมื่อไมต้องสต็อกสินค้าหรือจัดการเรื่องโกดังของเอง ค่าใช้จ่ายยิบย่อยก็น้อยลงตามไปด้วย ผู้ขายของออนไลน์แนว Dropship จำนวนไม่น้อยเลยในบ้านเรา ที่ใช้แค่คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวทำงาน

แม้ในอนาคตเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ผู้ทำ Dropship จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตาม เช่น จ้างพนักงาน แต่ก็ยังน้อยกว่าการทำธุรกิจออนไลน์แบบสต็อกสินค้าเองอยู่ดี

4. ทำงานที่ไหนก็ได้

อาชีพในฝันเลยใช่ไหมล่ะ! Drop shipping เป็นงานที่ทำที่ไหนก็ได้ ขอแค่มีคอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เน็ต เพราะตราบใดที่คุณสามารถติดต่อกับลูกค้าและผู้ส่งสินค้าได้ ก็สามารถทำงานนี้ได้แล้วค่ะ

5. มีสินค้าให้เลือกขายมากมาย

คุณจะขายอะไรก็ได้ เพราะไม่ต้องสต็อกของเอง ไม่ต้องรับความเสี่ยงเอง แต่ส่วนมากแล้ว พ่อค้าแม่ค้าก็จะพยายามคุมประเภทของสินค้าที่ขายให้เป็นประเภทเดียวกัน เช่น เสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน อาหารเสริม เป็นต้น

6. ทดสอบตลาดได้ง่าย

Drop shipping เหมาะกับการทดสอบความต้องการของลูกค้าได้หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเบ็ดเตล็ด เช่น เครื่องประดับ ไปจนถึงสินค้าใหม่เอี่ยมอ่อง ไม่เคยมีใครขายมาก่อน

เพราะอย่างที่บอกว่า การทำDropship ช่วยทดสอบสินค้ากับความต้องการซื้อของลูกค้า ก่อนที่ร้านค้าจะตัดสินใจผลิตหรือสั่งมาขายจำนวนมากๆ

7. ขยายขนาดธุรกิจได้ง่าย

หากเป็นธุรกิจขายปลีกทั่วไป ถ้าคุณได้รับออเดอร์จากลูกค้าเยอะขึ้น 3 เท่า คุณต้องลงมือทำงานเพิ่มเป็น 3 เท่า

แต่ถ้าเป็นธุรกิจแบบ Dropship การจัดการออเดอร์ประมาณ 90% จะไปตกอยู่ที่โรงงานที่รับออเดอร์ไปจัดการต่อ เมื่อภาระงานน้อย คุณก็สามารถขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น และขยายใหญ่ได้ไวด้วย

พูดถึงข้อดีมาเยอะแล้ว แต่ Dropshipping ก็เหมือนกับรูปแบบธุรกิจอื่นๆ ที่มีจุดด้อยหรือข้อเสีย 

ข้อเสีย

1. กำไรต่อชิ้นน้อย

กำไรต่อชิ้นสินค้าหรือการขายน้อย เป็นจุดด้อยของธุรกิจ Dropship ที่การแข่งขันค่อนข้างสูง (ซึ่งส่วนสำคัญเกิดจากรูปแบบธุรกิจที่เริ่มต้นได้ง่าย) ผู้ขายเยอะพร้อมจะกดราคาให้ถูกเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งก็พร้อมที่จะนำข้อเสนอของร้านค้าต่างๆ ไปเปรียบเทียบกันอยู่แล้ว

2. ไม่รู้สต็อกของที่แท้จริง

การขายสินค้าแบบปกติ ผู้ขายจะเป็นคนทำสต็อกสินค้าเอง ก็จะรู้ว่า มีสินค้าอะไรบ้าง พร้อมขายเท่าไหร่ แต่พอเป็นการทำ Dropship ร้าน Dropship จะไม่รู้ในทันทีหรือมีข้อมูลอยู่กับตัวเองว่า สินค้ามีอยู่หรือไม่ สินค้าใหม่ที่กำลังจะเข้ามาคืออะไร ทำให้ร้านแนว Dropship ต้องคอยอัพเดตโรงงานและหน้าร้านออนไลน์ของตัวเองตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันร้านค้าสามารถแก้ไขประเด็นนี้ได้ด้วยการทำระบบ Channel Manager ในเว็บขายของที่ช่วยอัปเดตข้อมูลสินค้าไปยังพื้นที่ขายของออนไลน์นอกเว็บไซต์ได้แล้ว

3. การจัดส่งที่ยุ่งยากกว่า

ร้านแนว Dropship ส่วนมากรับขายสินค้าจากหลากหลายแหล่งสินค้า ซึ่งปัญหาที่ต้องเจอคือ วิธีคิดค่าจัดส่งสินค้าถึงลูกค้า เพราะสมมติลูกค้า 1 คน สั่งสินค้า 3 ชิ้นจากทางร้านค้าของคุณ แต่สินค้าทั้ง 3 ชิ้น มาจากโรงงาน 3 แห่ง การคิดค่าจัดส่งสินค้าจึงจะมีความยุ่งยากขึ้น

ร้านค้าส่วนมากมักแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งราคาสินค้ารวมค่าส่งแล้ว หรือการคิดค่าส่งสินค้าเป็นราคาเดียวมาตรฐาน ซึ่งเป็นราคาที่ครอบคลุมการส่งสินค้าทุกขนาดและน้ำหนัก เป็นต้น

4. ปัญหาจากต้นทางสินค้า

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นทางสินค้าหรือ Supplier เป็นสิ่งที่ร้าน Dropshipไม่สามารถควบคุมหรือพัฒนาปรับแก้ได้ แถมร้านค้าต้องน้อมรับคำตำหนิจากลูกค้าไปแบบเต็มๆ รวมถึงรับผิดชอบลูกค้าสำหรับปัญหาการสั่งซื้อและจัดส่งสินค้าที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะการให้โรงงานร่วมรับผิดชอบเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและเข้าใจได้ยากในมุมมองของลูกค้า

5. ความแตกต่างน้อย ทำแบรนด์ดิ้งยาก

สินค้าที่ทำส่งร้าน Dropship จะออกแบบและสร้างแบรนด์โดยผู้ผลิตสินค้า เพื่อให้ร้าน Dropship ต่างๆ ขาย ดังนั้นความแตกต่างของสินค้าจึงมีน้อย (หรือจนถึงขั้นไม่มีเลย) การทำแบรนด์ดิ้งจึงเป็นไปได้ยาก ทางร้านที่อยากทำแบรนด์ดิ้งจึงอาจต้องหารือกับทางผู้ส่งสินค้า หรือทำโปรโมชั่นขึ้นเอง

การนำสินค้าแบรนด์อื่นมาขาย วิธีนี้มีข้อดีมากๆ นั่นคือ ไม่ต้องเสียเงินสต็อคสินค้า ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายเรื่องแพ็กของและจัดส่ง แม้ว่าฟังดูแล้ว Dropship จะเป็นวิธีการสร้างรายได้ให้กับใครหลายๆ คนได้ค่อนข้างสะดวก แต่ที่ผ่านมาก็มีผู้ที่ลองผิดลองถูกมามาก ทำกำไรได้ไปหลายคน เจ็บจนจุกกันไปอีกหลายคน ซึ่งวันนี้เราจะมาบอกเคล็ดลับที่น่าสนใจให้กับผู้ที่ต้องการสร้างรายได้จาก Dropship กัน

10 เคล็ดลับ การทำดรอปชิบ (Dropship) ให้ขายดี ขายปัง

1 เรียนรู้ก่อนลงตลาด

     ก่อนตัดสินใจทำ Dropship สิ่งแรกที่ต้องทำคือเรียนรู้การแข่งขันของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น วางขายที่ไหน เว็บไหนบ้าง โซเชียลมีเดียประเภทใดบ้าง ราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่ง คอมเมนต์หรือรีวิวจากผู้ซื้อ โอกาสในการขายสูงพอและคุ้มค่าเหนื่อยเราหรือเปล่า ถ้าขั้นตอนเริ่มต้นเราทำได้ดี ก็มีชัยเกินครึ่งแล้วละ เพราะหากไปเลือกสินค้าที่ขายไม่ดี ต่อให้เราไปทำตลาดต่อยังไงก็ขายได้ยาก เช่น ราคาแพงแต่คุณภาพด้อยกว่าแบรนด์อื่นในตลาด ไม่รับผิดชอบสินค้า ส่งช้า ฯลฯ เป็นต้น

2 ศึกษาคู่แข่งในระยะยาว

     จริงๆ แล้วทุกๆ ธุรกิจควรเข้าใจและทำการศึกษาคู่แข่ง ซึ่งการทำ Dropship เองก็ต้องให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาคู่แข่งไม่แพ้กันเลยทีเดียว เพราะสิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์หนึ่ง แตกต่างจากอีกผลิตภัณฑ์เป็นเพราะ “การตลาด” ดังนั้น ถ้าเราขายผลิตภัณฑ์ A แล้วมีคู่แข่งมาขายผลิตภัณฑ์ A เหมือนกับเรา เราก็จำเป็นต้องศึกษาวิธีขายและแนวทางการตลาดของเขาเพื่อก้าวให้เหนือกว่า ไม่งั้นคงอยู่รอดได้ยาก

3 ผลิตไหวแน่นะ ?

     อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ แบรนด์ที่เราจะทำธุรกิจ Dropship มีการบริหารจัดการที่ดี หรือมีสต็อคสินค้าเพียงพอหรือไม่ เพราะในกรณีที่มี Dropship หลายๆ คน เขาสามารถผลิตได้ทันตามความต้องการที่จะขายหรือเปล่า ประเด็นนี้ลองมองในแง่ Worst Case กัน ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรายิงโฆษณาผ่าน Facebook ลงทุนจากหลักร้อย ซึ่งช่วงแรกก็ขายดี ส่งของทัน จึงขยับค่าโฆษณาเป็นวันละ 1,000 บาท สุดท้าย แบรนด์ที่เราร่วมธุรกิจด้วยบอกว่าผลิตสินค้าไม่ทัน เพราะต้องส่งสินค้าให้ Dropship รายอื่นด้วย หรือ ขาดสภาพคล่องเพราะพิษเศรษฐกิจ หรือเหตุผลอีกนับร้อยประการ จนอาจทำให้เราขาดทุน เสียโอกาสขาย และเสียลูกค้าไปในที่สุด

     ในส่วนของเรื่องนี้ แนะนำให้คุยและประเมินสถานการณ์ให้ดีที่สุดก่อน โดยทำความรู้จักกับแบรนด์ที่เราจะร่วม Dropship ด้วย อาจสอบถามถึงความเต็มใจและความสามารถในการสนับสนุนการเติบโตของเราในอนาคต

4 แอบทดสอบแบรนด์นั้นๆ ก่อน

     ถ้าท้ายที่สุดเราตัดสินใจจะทำ Dropship กับแบรนด์นึงจริงๆ อย่าลืมลองสั่งสินค้า (ที่ราคาถูกที่สุดก็ได้) เพื่อตรวจสอบแนวทาง ความถูกต้อง คุณภาพสินค้า และระยะเวลาจัดส่ง จากนั้นจดบันทึกข้อคิดเห็น หรือสิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาเอาไว้ เพื่อใช้เป็น List ให้เราช่วยติดตามกระบวนการต่างๆ ให้กับลูกค้าได้ในอนาคต เช่น ถ้าแบรนด์นั้นๆ ดำเนินการแพ็กหรือจัดส่งช้า ในช่วงแรก เราจำเป็นต้องช่วยลูกค้าสอบถามและติดตามกระบวนการขนส่งจนกว่าจะได้รับเลขพัสดุ เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าเราใส่ใจในการให้บริการ ไม่ใช่หวังแค่เงินส่วนต่างที่เรียกว่า “กำไร” เพียงอย่างเดียว

5 อย่าเพิ่งรีบออกตัวแรง

     เมื่อเริ่ม Dropship จริงๆ แล้ว ก็อย่าเพิ่งรีบลงทุนด้านการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ (ที่ต้องเสียเงิน) อะไรมากนัก ทดสอบดูก่อนว่าผลิตภัณฑ์ขายได้ คุณภาพดีจริงตามที่ลูกค้ารีวิว โอกาสขายสูงไหม โอกาสซื้อซ้ำมากแค่ไหน หลังจากมั่นใจแล้วค่อยลงทุนก็ยังไม่สาย

     เช่นเดียวกับ “ระบบตัวแทนจำหน่าย” ที่ต้องสต็อคสินค้า มักโดนผู้ผลิตหลอกล่อด้วยโปรโมชั่นต่างๆ เช่น ซื้อครบ 30 ลังแจกทอง หรือ ซื้อเกิน 50 ลังจะได้เรทที่ถูกมากๆ ก็นำเอาประโยค “อย่าเพิ่งรีบออกตัวแรง” ไปใช้ได้เช่นกัน เพราะถ้าเราสต็อคไว้แล้วขายไม่ได้ หรือคุณภาพไม่ดีเท่าที่คิด จะเจ็บตัวเจ็บใจกันไปยาวๆ  

6 ราคา

สินค้าที่ราคาแพงมากๆ อาจจะไม่เหมาะกับการขายแบบ Dropship เพราะร้านไม่มีสินค้าจริงให้ดูและหลายคนอาจไม่สะดวกใจถ้าซื้อสินค้าราคาสูงกับร้าน Dropship

แต่ก็มีทางแก้ไขอยู่ เช่น การหาภาพสินค้าจริงที่ขายจากโรงงานมาแสดงให้ลูกค้าดู การพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง ไม่ใช่ระบบแชทอัตโนมัติ

7 การทำการตลาด

จะโฆษณาสินค้าอย่างไร คือ สิ่งที่ต้องคิดก่อนจะเริ่มต้นขายสินค้านั้นจริงๆ ไม่ใช่เริ่มขายสินค้าไปแล้วเพิ่งมาคิดว่าจะขายอย่างไร วิธีการโฆษณามีอย่างไรบ้าง

เช่น ทำ SEO เว็บไซต์ เชิงเทคนิคอย่างจัดโครงสร้างเว็บไซต์ เขียนบทความรีวิวสินค้าที่ขายหรือสินค้าแบบเดียวกันที่มีขายในตลาด ทำคลิปยูทูบมาฝังในเว็บที่ขายสินค้า ฯลฯ เลือกวิธีที่เข้ากับสินค้าและความถนัดของคุณ

8 สินค้าเสริมให้กับสินค้าหลัก

สินค้าที่คุณขาย ต้องมีสินค้าอะไหล่หรือของแต่งเสริมหรือเปล่า เช่น ขายโทรศัพท์ ต้องมีเคสใส่โทรศัพท์ สายชาร์จ แบตเตอรี่สำรอง

โดยมากแล้ว สินค้าเสริมเหล่านี้จะทำกำไรให้กับธุรกิจได้พอๆ กับหรือมากกว่าสินค้าหลักด้วย อีกทั้งยังขายง่าย เพราะลูกค้าที่ซื้อสินค้าหลักมักจะซื้ออะไหล่กับเจ้าเดียวกันเพื่อให้แน่ใจว่าใช้ได้กับสินค้าหลักที่ซื้อ

9 ความเปลี่ยนแปลงน้อย

การทำหน้าร้านออนไลน์เป็นงานที่ลงทุนไม่มากทั้งเวลาและเงินก็จริง แต่หากต้องปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ เนื่องจากไม่สามารถขายสินค้ากลุ่มเดิมได้อีกต่อไป อาจจะไม่คุ้มค่า เช่น เว็บขายเครื่องราง เพราะเครื่องรางมีอายุความนิยมค่อนข้างสั้น ถ้าโฟกัสที่เครื่องรางชนิดเดียวอาจเสี่ยงสูง

10 ความยากง่ายในการหาซื้อสินค้า

การขายสินค้าที่หาซื้อในท้องถิ่นหรือห้างสรรพสินค้าแถวบ้านทั่วไปไม่ค่อยได้ คือโอกาสที่สวยงามของร้านค้าออนไลน์ เพราะถ้าลูกค้าหาซื้อสินค้านั้นๆ แถวบ้านตัวเองไม่ได้ ก็จะเริ่มค้นหาในอินเตอร์เน็ตแทน

Dropshipping เป็นวิธีขายของออนไลน์วิธีหนึ่ง ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นวิธีการขายที่มีความเสี่ยงทางการเงินน้อยมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกธุรกิจมีเหมือนกันแน่ๆ คือ ความทุ่มเทที่ต้องเกิดขึ้นในช่วงก่อร่างสร้างธุรกิจใหม่ๆ การวางแผนเพื่อเดินหน้า แก้ไข หรือพัฒนาธุรกิจในวันที่พร้อมจะเติบโต

ตัวอย่างการทำ Dropship ของต่างประเทศ สนใจอ่านเพิ่มเติมคลิก

ที่มา ขายไอเดีย1 ขายไอเดีย2

อ่านอะไรต่อดี

1 5 เทคนิคการเป็นตัวแทน

2 10 สินค้าตัวแทนจำหน่าย ขายดี

3 จากเด็กบ้านนอกสู่พ่อค้าออนไลน์รายได้หลักล้าน

อยากเรียนรู้ เพื่อให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเมื่อวาน กดติดตาม Facebook Page ไอเดียได้เลยค่ะ 

จะได้ไม่พลาดสาระดีๆ ที่ไอเดียจะนำมาเสริฟคุณในทุกๆวัน 

สนใจเข้าร่วมกลุ่ม แนะนำไอเดียเรื่องการเงินต่างๆ ที่คุณควรรู้  >>คลิก

====================

ติดตามขายไอเดียได้ที่ Facebook Page  >>คลิก

ติดตามช่องขายไอเดียพอดแคสต์ >> Podcast คลิก

ขายไอเดีย แหล่งรวมไอเดียคอนเทนต์ความรู้ออนไลน์ แชร์บทความนี้ให้คนที่คุณรักและหวังดีได้อ่านด้วยนะค่ะ กดแชร์ที่ปุ่มไอคอนด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ

9,407 Views จำนวนผู้เยี่ยมชม