4 เรื่องการ”เก็บเงิน” ที่พูดง่ายแต่ทำยาก

เก็บเงินอย่างไรให้รวยๆ

ปัญหาหนักอกหนักใจ ของใครหลายๆ คน คือ ทำงานมาทั้งปี หรืออาจจะทั้งชีวิตแต่ไม่มีเงินเก็บ ขายไอเดียเองก็เคยเป็นค่ะ แต่ตอนนี้หายเป็นแล้ว^^ เพราะว่ามันมีวิธีที่จะทำให้เราสามารถเก็บเงิน หรือมีเงินเก็บ เพียงแค่เราต้องทำอย่างถูกต้องและถูกวิธีเท่านั้นเองค่ะ

ขายไอเดียขอยกตัวอย่าง อ้างอิงบทความจากเพจสมองไหล บทความดีๆ ที่นำมาฝากเพื่อนๆ ทุกคนค่ะ 

วันก่อนผมพูดถึงเรื่องการ “เก็บเงิน” ว่าถ้าไม่ใช่คนที่ยากจนข้นแค้น ถึงขนาดที่ไม่มีเงินจ่ายแม้กระทั่งค่าอาหารกับที่อยู่อาศัย ทุกคนก็สามารถประหยัดและเก็บออมได้

พอพูดอย่างนี้ ข้ออ้างที่มักจะเจอก็คือ “รายได้น้อย”

แต่ถ้าพูดถึงสาเหตุลึกๆ จริงๆ มันเกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตต่างหาก เพราะพอคนเราทำงานแล้วมี “เงิน” ก็เอาเงินไป “สร้างรูปแบบการใช้ชีวิต” ไปเอาเงินในอนาคตมาใช้ จนสุดท้ายรูปแบบการใช้ชีวิตที่เราสร้างขึ้นมาก็ทำให้เรากลายเป็นทาสที่ต้องกลับไปทำงานหาเงินมาแลกไม่จบไม่สิ้น

เพราะถ้าคนเราไม่ไปสร้างรูปแบบชีวิตที่มันเกินตัว แล้วใช้ชีวิตไม่ให้เกินกว่ารายได้ที่หามา มีเหรอจะไม่มีเงิน “เหลือเก็บ”

เหลือเก็บในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเหลือเก็บเยอะๆ เอาแค่วันละ 1 บาทก็ถือว่าเก็บได้แล้ว เพราะต่อให้เป็นเงินเล็กเงินน้อยมันก็คือเงินเก็บ อย่างน้อยมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้

พอผมพูดแบบนี้ก็มีคนวิจารณ์ว่า ภาระคนเราไม่เท่ากัน ความจำเป็นไม่เท่ากัน ไหนจะผ่อนรถ ผ่อนบ้าน อีก (แยกให้ออกระหว่างความจำเป็น กับ ความต้องการ) แทนที่จะโลกสวยบอกให้คนอย่าใช้เงินเกินที่หามา ทำไมไม่หาวิธีให้คนหา “รายได้เพิ่ม” ล่ะ

ซึ่งผมก็ตอบกลับไปว่า “ถ้าติดตามผมจริงๆ ผมทำคอนเทนต์ ประเภทหารายได้เพิ่มเยอะมากๆ นะ ลองไปศึกษาเพิ่มเติมได้”

พอเห็นอย่างนี้ผมก็โดนสวนขึ้นมาทันทีว่า “เป็นคนที่ทำคอนเทนต์ย้อนแย้ง”

คือ ใครจะว่าย้อนแย้งมันก็สิทธิ์ของเขา แต่สำหรับผมมันคือเรื่องนี้สอดคล้องกัน เพราะถ้าคุณหาเงินได้มากขึ้น แต่ควบคุมรายจ่ายไม่ได้มันจะมีประโยชน์อะไร ซึ่งส่วนใหญ่คนที่หาเงินได้เยอะๆ นั่นแหละ คือ คนที่ “เพิ่มรายจ่าย” ได้เก่งที่สุด เพราะสามารถกู้ขอสินเชื่อต่างๆ ง่ายกว่าคนอื่นๆ แล้วพอรายได้ที่หามาหายไป ด้วยวิกฤตก็ดี หรือ อายุที่มากขึ้นก็ดี แต่รายจ่ายเท่าเดิม สุดท้ายก็ไม่พ้นปัญหาทางการเงิน

ดังนั้น ผมบอกเลยว่า “ต่อให้หาเงินเก่ง แต่บริหารไม่เป็น ก็ไม่มีประโยชน์”

ที่สำคัญ ถ้าวันนี้คุณยังจัดการเงินที่มีอยู่ไม่ได้ มีปัญหาสภาพคล่อง เงินไม่พอจ่าย คุณจะเอาพลังสมองที่ไหนไปคิดวิธีการหารายได้เพิ่ม

และเมื่อเราบริหารเงินไม่ได้ เราก็อยากจะหารายได้เร็วๆ แล้วคนที่อยู่ในภาวะร้อนเงิน อยากได้เงินเร็วๆ ผมบอกเลยว่าคนเหล่านี้จะไม่มีทางได้เงินเร็วๆ เพราะเขาจะใจร้อนจนไม่สามารถติดสินถูกผิดได้ สุดท้ายก็จะโดนหลอกเอาง่ายๆ

ฉะนั้น หากคุณอยากเป็นคนที่สามารถเพิ่มรายได้และทรัพย์สินได้อย่างยั่งยืน คุณจะเก่งแต่ “หาเงิน” อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย โดย จิม คิม Attribute of money

ได้อธิบาย 4 องค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการเงิน

 เอาไว้ในหนังสือ จงคบค้ากับความร่ำรวย ซึ่งประกอบด้วย

1) ความสามารถในการหาเงิน

แน่นอนสิ่งแรกที่คุณต้องมีคือ ต้องสามารถหาเงินได้ เพราะถ้าหาเงินไม่ได้ก็คงไม่มีทางที่เงินในกระเป๋าจะเพิ่มขึ้น

ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่มีความสามารถโดดเด่นในสังคม ส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานหรือทำธุรกิจได้เก่งมาก มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลกว่าคนทั่วไป ขายเก่ง มองโลกในแง่ดี ไม่ล้มเลิกอะไรง่ายๆ

ใครมีความสามารถในการหาเงินนับเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหากขาดความสามารถในมิติอื่น ก็อาจจะกลายเป็นหนี้และถูกหลอกลวงได้ เพราะถนัดแต่หาเงิน แต่จัดการเงินไม่เป็น แต่ละวันมีเงินไหลออกกระเป๋าไปเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยจะรู้ เผลอๆ ถูกลูกน้องหลอกเอาเงินโดยไม่รู้ตัวก็มี

สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะคนกลุ่มนี้มักคิดเอาเองว่า “ขอแค่หาเงินได้เท่ากับที่จ่ายไปก็คงพอแล้ว” จนเพิกเฉยต่อรายละเอียดต่างๆ ไม่ชอบอ่านและทำความเข้าใจกับงบการเงิน ไม่ศึกษาการลงทุน ซึ่งเป็นความเชื่อที่อันตรายมาก เพราะอย่าลืมว่าคนเราไม่สามารถทำงานหาเงินได้เต็มประสิทธิภาพตลอดชีวิต คุณต้องแก่ลงในอนาคต และมีโอกาสที่จะหารายได้น้อยลงด้วย อย่าคิดว่ายิ่งแก่ยิ่งหาเงินได้เยอะนะครับ

ถ้าใครหาเงินเก่งอย่างเดียว แต่บริหารไม่เป็น บอกเลยว่าไม่มีประโยชน์ เพราะต่อให้หาเงินได้มากแค่ไหน ก็รักษามันเอาไว้ไม่ได้อยู่ดี

2) ความสามารถในการเก็บเงิน

เป็นความสามารถที่แตกต่างจากการหาเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปนิสัยโดยตรง ผมจึงบอกเสมอว่า การออม ไม่ใช่เรื่องของ “จำนวนเงิน” แต่เป็นเรื่องของการ “สร้างนิสัย” ต่างหาก

คนที่หาเงินได้เยอะ แต่เก็บเงินไม่ได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเหนื่อยไปตักน้ำจากลำคลอง มาเทใส่โอ่งที่ก้นรั่ว พูดง่ายๆ ก็ คือ “เหนื่อยฟรี” นั่นเอง

หากคุณหาเงินเก่ง และ เก็บเงินได้ คุณจะรู้สึกว่าควบคุมชีวิตตัวเองได้  เมื่อรู้สึกว่าควบคุมชีวิต

ตัวเองได้ ก็จะมีความ “มั่นใจ” มากขึ้น แล้วพอคนเรามีความมั่นใจ “วิสัยทัศน์” ก็จะกว้างไกลขึ้น คิดถึงอนาคตมากขึ้น ส่งผลให้คนเรามี “พลังสมอง” ไปเรียนรู้เพื่อ “สร้างรายได้” เพิ่มต่อไปได้

สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อสร้างนิสัยทางการเงินที่ดีก็คือ ปรับสมดุลตัวเอง ให้มีทักษะในการจัดการค่าใช้จ่ายทุกระเบียบนิ้ว จัดการทุกอย่างให้เป็นระบบ ส่วนตัวผมจะใช้แอพพลิเคชั่นบันทึกรายรับ-รายวัน และ ทำงบการเงินรายเดือน เพื่อตรวจสอบว่าเงินไหลเข้าไหลออกอย่างไรบ้าง รวมไปถึงการหมั่นศึกษาอัตราดอกเบี้ย การลงทุน และ ภาษี ด้วย

ซึ่งทักษะในการเก็บเงินนั้น ไม่ได้หมายความเพียงแค่ตัว “เงิน” เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ด้วย อะไรที่ซื้อมาก็จัดเก็บให้ดี วางให้เป็นระเบียบ เพราะสิ่งเหล่านี้คุณใช้เงินแลกมา การที่คุณทิ้งขว้างวางของไม่เป็นที่จนหาไม่เจอ ก็ไม่ต่างอะไรกับการทิ้งขว้างเงินของตัวเอง

ฉะนั้น หากคุณไม่ได้วางเงินไว้อย่างสะเปะสะปะฉันใด คุณก็ไม่ควรวางข้าวของเครื่องใช้สะเปะสะปะฉันนั้น เพราะทุกอย่างล้วนใช้เงินแลกมาทั้งสิ้น

3) ความสามารถในการรักษาเงิน

เก็บเงิน กับ รักษาเงิน อาจจะดูเหมือนกัน แต่เป็นคนละเรื่องกันนะครับ การเก็บเงินก็เหมือนการตักน้ำมาใส่โอ่ง (โดยไม่เอาออกมาใช้โดยไม่จำเป็น) แต่อย่าลืมว่าถ้าน้ำมันอยู่ในโอ่งเฉยๆ วันหนึ่งมันก็ระเหยออกไปอยู่ดี ก็ไม่ต่างอะไรกับการเก็บเงินในบัญชี แล้วให้เวลาผ่านไปเฉยๆ จนเงินเฟ้อกัดกินให้ด้อยค่าลง

การ “รักษาเงิน” จึงเป็นเรื่องยากกว่าการ “หาเงิน” และ “เก็บเงิน” เพราะมันไม่ได้ใช้แค่ความขยันและวินัยอย่างเดียว แต่ต้องใช้ความรู้ในการลงทุน ซึ่งมันถือเป็นศาสตร์ จึงต้องอาศัยการศึกษาอย่างละเอียด ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องยาก แต่บอกเลยว่า การไม่ทำอะไรเลย คือ การลงทุนที่เลวร้ายที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น พอคุณเริ่มมีเงินมากขึ้น ทุกคนจะปฏิบัติต่อคุณเหมือนคนรวย เมื่อคุณเริ่มมีชื่อเสียง คุณก็จะมีความหรูหราฟุ้งเฟ้อรออยู่ เราจะเริ่มแสวงหาบ้าน รถ อาหารหรู เพื่อน และ สินค้าแบรนด์เนม เรียกได้ว่าแค่ก้าวออกจากบ้านก็เสี่ยงจะเสียเงินแล้ว เพราะต้องหน้าใหญ่ไว้ก่อน แน่นอนบางครั้งเราอาจจะไม่อยากจ่ายเงิน แต่ความหน้าใหญ่คือสิ่งที่พรัดพรากเงินไปจากเรา ฉะนั้น จงระวังให้ดี

4) ความสามารถในการใช้เงิน

ใช้เงินเก่งไม่ได้หมายความว่าจะใช้เงินเยอะ เพราะความสามารถในการใช้เงินก็เหมือนความเก๋าเกม รู้ว่าควรใช้จ่ายเงินไปกับอะไร ผมพูดเสมอว่าการใช้เงินมี 2 แบบ คือ การบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป กับ การลงทุนที่จ่ายแล้วได้ผลตอบแทนกลับมา ฉะนั้น ก่อนจะควักเงินออกจากกระเป๋า ให้คิดก่อนเสมอ ว่ามันคือ การบริโภค หรือ การลงทุน

นอกจากการใช้จ่ายแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ต้องจ่ายให้ตรงกำหนด เพราะมันคือ เครดิต ความน่าเชื่อถือ และ การให้เกียรติผู้อื่น แม้กระทั่งเงินที่จะต้องส่งให้พ่อแม่ก็ควรกำหนดวันให้ชัดเจน

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ การเคารพในเงินของผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น ในชีวิตเราจะมีเพื่อนอยู่ 2 ประเภท คือ คนที่ชอบขอลดราคาเวลาซื้อของจากร้านเพื่อน กับ คนที่รู้สึกว่ายิ่งเป็นเพื่อน ยิ่งต้องจ่ายเต็ม ต่อให้เพื่อนลดให้ก็ไม่เอา เพราะคิดว่าเป็นการสนับสนุนกัน

การอ้างสิทธิ์ความเป็นเพื่อนเพื่อขอลดราคา ไม่ใช่คนที่ใช้เงินเก่ง แต่คือคนที่ไม่รู้จักเคารพเงินของคนอื่นต่างหาก เพราะการที่เราขอลดราคา เท่ากับว่าเพื่อนจะได้เงินน้อยลง มันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราไปเอาเงินเขามา ฉะนั้น ใครที่เป็นแบบนี้ บอกเลยว่า อย่าหาทำ แล้วให้เลิกซะ

เพราะการที่คุณทำแบบนี้ คนที่เสียหายที่สุดก็คือตัวคุณเอง เพราะถ้าคุณไม่เคารพเงินของคนอื่น คนอื่นก็จะไม่เคารพเงินของคุณ ถ้าวันไหนคุณทำธุรกิจ ก็คงไม่มีเพื่อนคนไหนอยากจะมาสนับสนุนหรอก เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความเก่ง ความขยัน วินัย หรือ ความรู้ แต่เป็นเรื่องของ “สามัญสำนึก”

ทั้ง 4 ข้อนี้ ทุกคนต้องพยายามเรียนรู้และเข้าใจว่า ความสามารถแต่ละชนิดนั้นต่างกัน หากพลาดข้อใดข้อหนึ่งไป ถึงแม้จะมีเงินมากมาย ก็ไม่อาจจะรักษามันให้อยู่กับเราอย่างยืนยาวได้ และ บอกเลยว่า การหาเงินได้มาก แต่เสียไปหมด มันทุกข์ทรมานเสียยิ่งกว่าหาเงินได้น้อย แต่เหลือเก็บเสียอีก

ดังนั้น ผมขอให้ทุกคนเรียนรู้และฝึกฝนทั้ง 4 ข้อนี้ และขอให้คุณเป็นคนที่หาเงินได้มากๆ เก็บสะสมได้เยอะๆ รักษาไว้ได้ดี และ ใช้เงินเป็น นะครับ

อ้างอิง 


เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ กับบทความสาระดีๆ เกี่ยวกับการเก็บเงิน การใช้เงินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเราเอง ไอเดียหวังว่าเพื่อนๆ จะได้ข้อคิดดีๆ ไปปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตของแต่ละคนนะค่ะ โชคดีปีใหม่ทุกคนค่ะ

อ่านอะไรต่อดีนะ

1 อยากรวยทำไงดี มีคำตอบ

2 อยากมีเงินใช้เหลือเฟือห้ามพลาด!

2,310 Views จำนวนผู้เยี่ยมชม