รวบรวมมาตรการแบงค์ ช่วยเหลือลูกหนี้ สู้ภัยโควิด

ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการ ออกมาช่วยเหลือ ลูกหนี้ เพราะสถานการณ์โควิด ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้อีกระลอก

938 Views จำนวนผู้เยี่ยมชม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงินในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อย โดยล่าสุด ธปท.ได้ ยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้

         1. บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Revolving & Installment Loan) :เน้นการบรรเทาภาระหนี้โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้นหรือลดค่างวด กรณีขยายเวลาเกินกว่า 48 งวดให้ผู้ให้บริการทางการเงินทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราที่กำหนด รวมถึงการรวมหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น

        2. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : เพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด และสำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้

        3. เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : กำหนดแนวทางในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม และปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้

        4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน : เพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ทั้งนี้ การรวมหนี้ในระยะแรกต้องเป็นในธนาคารเดียวกัน อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินที่มีบริษัทลูกสามารถนำมารวมได้

สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL ก่อนวันที่ 31 มี.ค. 63 โดยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม – 31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน

ออกนโยบายกำกับสถาบันการเงิน

ช่วยลูกหนี้ได้รับผลกระทบ COVID-19

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ทบทวนแนวนโยบายในการส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ และกระตุ้นให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกหนี้ในอนาคต ขณะที่ยังรักษาความมั่นคงและการบริหารความเสี่ยงที่ดีของระบบสถาบันการเงินโดยมีรายละเอียด ดังนี้

        1. ขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่จะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่ เช่น กิจการที่ยังไม่เปิดทำการตามปกติ ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้ มาตรการนี้จึงไม่ใช่การชะลอชำระหนี้เป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตถึงลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบตามนิยามที่แต่ละสถาบันการเงินใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะครอบคลุมมากกว่า SMEs ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ทำให้มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายได้รับการให้ความช่วยเหลือได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับกระบวนการปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของ สถาบันการเงินไม่ต้องปรับระบบงานในการส่งผ่านความช่วยเหลือให้กับลูกหนี้ เพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน โดย สถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นหนี้เดิมได้จนถึง 31 ธ.ค. 2564 และในระหว่างนี้ ให้ สถาบันการเงินเข้าไปดูแลลูกหนี้เพื่อเร่งหาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็วต่อไป

        2. กำหนดกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณา (1) ความสามารถในการชำระคืนหนี้ และ (2) ระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ ให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ที่ลูกหนี้จะได้รับในอนาคต

โดย ธปท. จะยังคงความยืดหยุ่นของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง หาก สง. ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การลดเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยค้างรับ การลดอัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้

        3. ให้สถาบันการเงินสามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้โดยไม่เกินอัตราจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ของแต่ละสถาบันการเงิน ในปี 2563 และไม่เกินร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2564 รวมถึงให้งดซื้อหุ้นคืน และห้ามไถ่ถอนหรือซื้อคืนตราสารเงินกองทุนก่อนครบกำหนด เว้นแต่มีแผนการออกทดแทน เพื่อคงมาตรการเชิงป้องกันในการดูแลความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน รองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ธปท. จะประเมินสถานการณ์การระบาดและแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของ สถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ในช่วงไตรมาส 4 ต่อไปสำหรับการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 จากร้อยละ 0.46 ต่อปี ที่จะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2564 ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาความจำเป็นในการขยายอายุ โดยคำนึงถึงการส่งผ่านไปช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากการระบาดของไวรัสCOVID-19 ระลอกที่ 3 ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่

มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อยโดยขยายระยะเวลาพักชำระ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ โดยออมสินให้ลูกหนี้เลือกแผนการชำระหนี้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน MyMoได้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2564 สำหรับลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินกู้เกิน 10 ล้านบาท สามารถติดต่อดำเนินการที่สาขาของธนาคาร

มาตรการพักชำระเงินต้น – ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ให้ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจSMEsทั้งที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการได้ตามความสมัครใจ เช่นเดียวกับลูกค้ารายย่อย  โดยสามารถพักชำระเงินต้นเป็นการชั่วคราว และชำระเฉพาะดอกเบี้ย ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วิธีการคือ

        1. ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้แจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการและเลือกแผนชำระหนี้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน MyMo

        2. ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือมากกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท และนิติบุคคลที่มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ติดต่อแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา

สินเชื่อสู้ภัยCOVID-19 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้อันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้น โดยผู้มีสิทธิ์ขอสินเชื่อนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งผู้มีรายได้ประจำของหน่วยงานเอกชนที่ได้รับผลกระทบกระทบจาก COVID-19 (ไม่รวมผู้มีรายได้ประจำจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ)

โดยต้องมีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป สำหรับวงเงินสินเชื่อกำหนดให้รายละไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.35% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกันการกู้ ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก

ทั้งนี้ ยื่นกู้ผ่านแอปพลิเคชั่นMyMoกำหนดสิ้นสุดระยะเวลาโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ

สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยให้ลงทะเบียนขอกู้โครงการที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด

ทั้งนี้ สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน เป็นสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ ให้กู้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สามารถใช้ที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักประกันการกู้

 รวมถึงสามารถไถ่ถอนที่ดินซึ่งทำสัญญาขายฝากกับเอกชนไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 ให้วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินราชการ ระยะเวลากู้ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย = 0.10% ต่อปี ปีที่ 2 = 0.99 ต่อปี และปีที่ 3 = 5.99 ต่อปี กรณีบุคคลธรรมดาให้กู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลให้กู้ไม่เกิน 50 ล้านบาท

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ออมสินช่วยเหลือ SMEs ในภาคการท่องเที่ยว โดยการให้สินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนดำเนินกิจการหรือเสริมสภาพคล่อง วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท ให้กู้เป็นระยะเวลา 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีเท่ากับ 3.99%  และปลอดชำระเงินต้นในปีแรก ผู้มีสิทธิ์กู้เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ใช้บุคคลเป็นหลักประกันการกู้ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์และ บสย. ค้ำประกัน ทั้งนี้ ธนาคารฯ ผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาโดยดูรายได้ในอดีตของกิจการเป็นหลัก เนื่องจากธนาคารฯ ทราบดีว่าปัจจุบันกิจการต้องขาดรายได้เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด

ที่มา ขายไอเดีย1

อ่านอะไรต่อดี

1 สิ่งที่ควรรู้ก่อนเป็นแม่ค้าออนไลน์

2 5 เทคนิคเป็นตัวแทน ขายอะไรก็ปัง

3 ขายของออนไลน์ เริ่มต้นจากร้อยสู้รายได้หลักล้าน

4 แนะนำ 10 เว็ปไซต์สมัครตัวแทน

เล่าเรื่องสั้นปั้นไอเดียเพื่อความสำเร็จ The Success Story For An Idea

ขอขอบคุณทุกท่านที่แวะเข้ามาอ่านบทความของทาง ขายไอเดีย นะคะ ขอบพระคุณมากคะ 

สามารถทักทาย ติชมเข้ามาได้เลยคะ  คลิก ทุกคำติชมทางขายไอเดีย พร้อมรับคำแนะนำและปรับปรุงให้ดีขึ้นคะ